วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โคมไฟจากกะลามะพร้าว

โคมไฟจากกะลามะพร้าว

โคมไฟจากกะลามะพร้าว  จังหวัดหนองบัวลำภู

ประวัติความเป็นมา
เมื่อปี พ.ศ. 2539 ข้าพเจ้ามีโอกาสเข้าศึกษาการฝึกอาชีพหลักสูตรระยะสั้นจากสถาบันวิภาบุญเสริม ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังจากจบการฝึกอาชีพระยะสั้นมาแล้ว ก็ยังไม่คิดจะนำความรู้ที่ได้มาประกอบอาชีพแต่อย่างใด ต่อมาข้าพเจ้าได้แต่งงานและย้ายมาอยู่ที่บ้านของภรรยาที่บ้านฝั่งแดง หมู่ที่ 4 ตำบลฝั่งแดง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อปี พ.ศ. 2541
และไม่อยากจากครอบครัวไปทำงานต่างจังหวัด ซึ่งต้องห่างไกลจากครอบครัว แต่ไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไร จึงได้นำความรู้จากการฝีกอบรมอาชีพหลักสูตรระยะสั้น “การทำโคมไฟจากกะลามะพร้าว” จากสถาบันวิภาบุญเสริม มาประกอบเป็นอาชีพและก่อตั้งกลุ่มการทำโคมไฟจากกะลามะพร้าวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แนวคิด
อยากประกอบอาชีพส่วนตัวอยู่กับครอบครัว ไม่ต้องจากกันไปต่างจังหวัด ประกอบกับตนเองมีความรู้เรื่องการทำโคมไฟจากกะลามะพร้าว ทั้งวัตถุดิบก็หาง่ายในท้องถิ่น และมีใจรักในงานศิลปะ
การฝึกอาชีพหลักสูตรระยะสั้น จากสถาบันวิภาบุญเสริม จังหวัดฉะเชิงเทรา
อัตลักษณ์
แนวคิดในการออกแบบชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์สอดแทรกทัศนคติ และความเชื่อดั่งเดิมของสังคมไทยเกี่ยวกับสัตว์ หรือสิ่งของที่เป็นมงคล นำความเจริญรุ่งเรือง ความร่ำรวยและอยู่เย็นเป็นสุขมาสู่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง และ/หรือสอดแทรกปรัชญา วิถีชีวิตชุมชนไว้ในชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์อย่างประณีต สวยงามและมีคุณค่าทางจิตใจ

เอกลักษณ์/จุดเด่นผลิตภัณฑ์
เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยมือทุกขั้นตอน ที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญอย่างมากในการผลิต มีความละเอียดประณีต สวยงาม แนวความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ สอดแทรกปรัชญาวิถีชีวิตชุมชนผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีศิลปะ ให้ความรู้สึกอบอุ่นและมีความสุขเมื่อได้ครอบครอง

วัตถุดิบและส่วนประกอบ
วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตมีเพียง 2 อย่าง ประกอบด้วย กะลามะพร้าวและเศษไม้ขนาดเล็ก ซึ่งสามารถหาได้โดยง่ายในท้องถิ่น ในส่วนของกะลามะพร้าวขนาดเล็กหรือมะพร้าวน้ำหอม ถ้าหากไม่เพียงพอในท้องถิ่นก็สามารถสั่งซื้อจากผู้ประกอบการสวนมะพร้าวน้ำหอมแถบจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งมีอยู่อย่างเพียงพอในการผลิต

ส่วนประกอบหรือส่วนผสมในการผลิต โคมไฟจากกะลามะพร้าว มีส่วนประกอบหรือส่วนผสมหลักที่จำเป็น ดังนี้
1. กะลามะพร้าว
2. โคมไฟพร้อมส่วนประกอบ เช่น หลอดไฟ สายไฟ ขั้วไฟ
3. กาวร้อน ใช้ติดส่วนประกอบ
4. เศษผงไม้ ใช้เป็นตัวประสานชิ้นงานโดยใช้กาวร้อนเป็นตัวเชื่อม

ส่วนอุปกรณ์ ในการผลิตชิ้นงานประกอบด้วย
1. ไดนาโม
2. มอเตอร์
3. เลื่อยฉลุ
4. สว่านแท่น
5. ใบเลื่อย
6. ผ้าซับมัน
7. กระดาษทรายหยาบ/ละเอียด

สูตรการผลิต
การผลิตโคมไฟจากกะลามะพร้าว ไม่มีสูตรการผลิตแต่อย่างใด (ควรตัดข้อนี้ออก เพราะไม่ใช่อาหารหรือเครื่องดื่มที่จำเป็นต้องมีสูตรในการผลิต)

ขั้นตอนการผลิต
การผลิตโคมไฟจากกะลามะพร้าว มีขั้นตอนการผลิต ดังนี้
1. คัดเลือกกะลามะพร้าว
2. นำกะลามะพร้าวมาขึ้นรูปตามที่ต้องการ
3. ตัดส่วนประกอบและประกอบเป็นรูปร่างตามที่ต้องการ
4. นำไปขัดด้วยกระดาษทรายชนิดหยาบ
5. นำไปขึ้นลวดลายตามต้องการ
6. นำไปเจาะรูตามแบบที่กำหนด
7. ขัดด้วยกระดาษทรายชนิดละเอียด จำนวน 2 รอบ
8. นำชิ้นส่วนทั้งหมดมาประกอบเป็นรูปร่างตามที่ต้องการ โดยใช้กาวร้อนเป็นตัวเชื่อมประสาน
9. นำชิ้นงานไปขัดด้วยผ้าซับมันเพื่อเคลือบแลกเกอร์ให้เงางาม
10. เก็บรายละเอียดความเรียบร้อย สมบูรณ์ของชิ้นงานก่อนนำไปวางจำหน่าย

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต
ทุกชิ้นงานหรือทุกผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้น ล้วนมีแนวคิดในการออกแบบ สอดแทรกปรัชญาและทัศนคติ ความเชื่อในเชิงสร้างสรรค์อย่างมีศิลปะทุกผลิตภัณฑ์ในตัวของมันเอง

เคล็ดลับ
ทำงานด้วยหัวใจ ไม่ตีราคาชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์มากกว่าความพอใจที่ได้ทำในสิ่งที่ตนรัก

ภูมิปัญญาเฉพาะถิ่นที่ใช้ในการผลิต
การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีจิตวิญญาณ การแกะสลักลวดลาย เลือกสรรวัตถุดิบที่มีทั่วไปและหาง่ายในท้องถิ่น ผสมผสานความเชื่อดั่งเดิมของสังคมไทยในการผลิตชิ้นงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย

การควบคุมคุณภาพ
เน้นความสามารถเฉพาะด้านของแต่ละบุคคล ใครมีชำนาญในการผลิตชิ้นส่วนใดก็ให้ผลิตชิ้นส่วนนั้นเป็นการเฉพาะ เพื่อให้แต่ละชิ้นงานมีมาตรฐานคงที่ สม่ำเสมอทุกชิ้นงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น